แนวทางปฏิบัติในการตรวจอนุญาตให้บุคคลเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร กรณีบุคคลถือหนังสือเดินทางร่วมหรือถือหนังสือเดินทาง 2 เล่ม

แนวทางปฏิบัติในการตรวจอนุญาตให้บุคคลเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร กรณีบุคคลถือหนังสือเดินทางร่วมหรือถือหนังสือเดินทาง 2 เล่ม

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 11,671 view

 เนื่องจากในห้วงเวลาที่ผ่านมา พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประสบปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจอนุญาตให้บุคคลเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร กรณีบุคคลถือหนังสือเดินทางร่วมหรือถือหนังสือเดินทาง 2 เล่ม

       ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในการตรวจอนุญาตให้บุคคลเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรกรณีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีมาตรฐานเดียวกัน จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ดังต่อไปนี้

1. บุคคลถือหนังสือเดินทางร่วม เช่น บุตรถือหนังสือเดินทางที่มีชื่อร่วมอยู่กับมารดา แต่เดินทางมากับบิดา โดยมารดาไม่ได้เดินทางมาด้วย หรือบุตรถือหนังสือเดินทางที่มีชื่อร่วมอยู่กับบิดาหรือมารดา แต่เดินทางโดยลำพังหรือเดินทางมากับผู้ปกครองที่ไม่ใช่บิดาหรือมารดา เป็นต้น

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจอนุญาตเฉพาะบุตรที่เดินทางมากับบิดาหรือมารดา ผู้มีชื่อหลักอยู่ในหนังสือเดินทางเล่มนั้นเท่านั้น สำหรับบุตรที่ไม่ได้เดินทางมากับบิดาหรือมารดาผู้มีชื่อหลักอยู่ในหนังสือเดินทาง ให้ปฏิเสธการตรวจอนุญาตเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ให้มีการดำเนินการประกันตัวให้เข้ามาในราชอาณาจักร

2. บุคคลถือหนังสือเดินทาง 2 เล่ม ดังนี้

2.1 หนังสือเดินทางไทย และหนังสือเดินทางต่างชาติ

2.1.1 ใช้หนังสือเดินทางต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และใช้หนังสือเดินทางไทยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

2.1.2 ใช้หนังสือเดินทางไทยเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และใช้หนังสือเดินทางต่างชาติเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เนื่องจากหนังสือเดินทางไทยหมดอายุ และมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิบัติ ดังนี้

(1) ตรวจอนุญาตในหนังสือเดินทางเล่มสัญชาติที่ใช้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเล่มสัญชาติที่ใช้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเพียงสัญชาติเดียว โดยประเทศไทยยึดหลักการมีสัญชาติเดียวตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

(2) กรณีพบว่าคนไทยมี 2 สัญชาติ ให้ประมวลเรื่องแจ้ง ส. เพื่อรวบรวมแจ้งกระทรวงมหาดไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เสียสัญชาติไทยต่อไป

2.1.3 ใช้หนังสือเดินทางต่างชาติเดินทางออกไปและจะใช้หนังสือเดินทางไทยซึ่งไม่มีรอยตราประทับขาออกเดินทางเข้าราชอาณาจักร

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิบัติ ดังนี้

(1) ตรวจอนุญาตในหนังสือเดินทางไทยที่ใช้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้

(2) กรณีพบว่าคนไทยมี 2 สัญชาติ ให้ประมวลเรื่องแจ้ง ส. เพื่อรวบรวมแจ้งกระทรวงมหาดไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เสียสัญชาติไทยต่อไป

2.2 บุคคลถือหนังสือเดินทางต่างชาติ 2 เล่ม (คนเดียวมี 2 สัญชาติ) เช่น เดินทางเข้าราชอาณาจักรใช้หนังสือเดินทางสัญชาติหนึ่ง และจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยใช้หนังสือเดินทางอีกสัญชาติหนึ่ง เนื่องจากหนังสือเดินทางที่ใช้แสดงขณะเข้ามาหมดอายุ หรือสูญหาย เป็นต้น

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธการตรวจอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเล่มหนังสือเดินทางอีกสัญชาติหนึ่ง พร้อมทั้งแนะนำให้คนต่างด้าวดำเนินการดังนี้

(1) กรณีไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลประจำประเทศไทย ให้คนต่างด้าวไปประสานกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว เพื่อออกเอกสารเดินทางชั่วคราว (E.C.) ให้คนต่างด้าวใช้เดินทางกลับราชอาณาจักร

(2) กรณีมีสถานทูตหรือสถานกงสุลประจำประเทศไทย ให้คนต่างด้าวประสานสถานทูตหรือสถานกงสุลที่คนต่างด้าวมีสัญชาติเพื่อออกเอกสารเดินทางให้แก่คนต่างด้าวดังกล่าว

3. กรณีระบบข้อมูลในคอมพิวเตอร์แจ้งว่าหนังสือเดินทางถูกยกเลิก แต่หนังสือเดินทางที่บุคคลถือมาเล่มเดียวกันนั้นยังมีอายุการใช้งานอยู่

หากพบกรณีนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองนำตัวบุคคลดังกล่าวมาสอบถามและบันทึกปากคำเกี่ยวกับความเป็นมาของการได้หนังสือเดินทางเล่มนั้นมา เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

4. กรณีคนต่างด้าวได้รับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ เนื่องจากหนังสือเดินทางเล่มเดิมสูญหายและประสงค์จะให้คนต่างด้าวไปติดต่อกรมการกงสุลเพื่อตรวจสอบข้อมูลการตรวจลงตรา

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจัดทำเป็นหนังสือตามแบบที่แนบท้ายหนังสือนี้ให้คนต่างด้าวนำไปติดต่อกรมการกงสุล

5. กรณีคนต่างด้าวสัญชาติที่ได้รับสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวไม่เกิน 30 วัน (ผ.30) ขอรับการตรวจลงตราก่อนเดินทางเข้าประเทศ

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรมีกำหนดระยะเวลาตามประเภทการตรวจลงตรา ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะกำหนดไว้ในแบบคำขอการตรวจลงตราให้คนต่างด้าวทราบว่า เมื่อขอรับการตรวจลงตราแล้ว จะต้องใช้การตรวจลงตรานั้นในการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย โดยคนต่างด้าวไม่สามารถขอสงวนสิทธิ์การใช้การตรวจตราในครั้งนั้นได้

6. กรณีการอุทธรณ์ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้รับอุทธรณ์จากคนต่างด้าวแล้ว ให้ประมวลเรื่องเสนอกระทรวงมหาดไทยโดยด่วนที่สุด เนื่องจากมีระยะเวลาดำเนินการเพียง 7 วัน

ทั้งนี้ สามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับหลักทั่วไปในการตรวจหนังสือเดินทางขาเข้าได้ตามไฟล์ที่แนบมาี่นี่ (อ้างอิงข้อมูลมาจากเว็บไซต์ http://www.phuketimmigration.go.th/)