ประวัติความสัมพันธ์

ประวัติความสัมพันธ์

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มี.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 พ.ย. 2566

| 56,516 view

ประวัติความสัมพันธ์

 


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กับสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลาสที่ 2

ไทยและรัสเซียได้ยึดถือการเสด็จประพาสรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (3-11 กรกฎาคม พ.ศ. 2440/ค.ศ.1897) เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์มีความใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ไทยกับรัสเซียไม่มีการติดต่อกันทางการทูตนับแต่ปี 2460 (ค.ศ.1917) เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซียจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบสังคมนิยม ทั้งนี้ ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยครั้งใหม่ ในปี พ.ศ.2491 (ค.ศ.1948) โดยได้มีการแลกเปลี่ยนคณะทูตชุดแรกระหว่างกันในระดับอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ต่อมา เมื่อสหภาพโซเวียตได้สลายตัวลงในปี 2534 (ค.ศ.1991) สหพันธรัฐรัสเซียได้เป็นผู้สืบสิทธิ์ของสหภาพโซเวียตทั้งหมด จึงถือได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียดำเนินต่อมาโดยไม่หยุดชะงัก 

เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย นาย Yevgeney Afanasiev (ตั้งแต่ปี 2548) นอกจากนี้ รัสเซียยังได้แต่งตั้งนางพงา วรรธนกุล ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองพัทยา

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับรัสเซียในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช

ไทยและรัสเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปีค.ศ. 1897 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสรัสเซียอย่างเป็นทางการ และรัฐบาลสยามได้แต่งตั้งราชทูตประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กคนแรกคือพระยาสุริยานุวัตร (เล็ก บุนนาค) ซึ่งเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำกรุงปารีสให้มาเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศรัสเซียโดยมีถิ่นที่พำนักในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ.1897 จนถึงปีค.ศ. 1899 รัฐบาลสยามจึงได้ส่งพระชลบุรีนุรักษ์มาเป็นราชทูตคนที่สองประจำประเทศรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 และเป็นราชทูตคนแรกของไทยที่มีถิ่นที่พำนักในประเทศรัสเซีย และให้มีฐานะเป็นผู้แทนส่วนพระองค์ประจำราชสำนัก ซึ่งเป็นกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐเป็นความสัมพันธ์พิเศษระหว่างราชวงศ์ และขณะเดียวกันก็เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ที่ต้องการให้พระยามหิบาลบริรักษ์ทำหน้าที่ดูแลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ภูวนาถในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยทหารมหาดเล็กคอร์ เดอ ปาฌ และทรงประทับอยู่ในพระราชวังฤดูหนาวในฐานะพระโอรสบุญธรรมของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นประการสำคัญด้วย

คณะทูตไทยในสมัยของพระมหิบาลบริรักษ์มีที่ทำการอยู่ที่บ้านเลขที่ 6 ถนนเลียบฝั่งแม่น้ำกระทรวงราชนาวี พร้อมกับการย้ายที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ภูวนาถจากพระราชวังฤดูหนาวมาที่บ้านเลขที่ 6 นี้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมปีค.ศ.1900 การย้ายที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ภูวนาท น่าจะมีเหตุผลสำคัญมาจากการเสด็จเยือนรัสเซียของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ระหว่างวันหยุดคริสต์มาสปีค.ศ. 1899 ถึงวันที่ 10 ค.ศ.1900 ซึ่งรัสเซียถือว่าเป็นการเยือนระดับราชวงศ์ของไทยที่สำคัญที่สุดนับจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสรัสเซียเมื่อปีค.ศ. 1897 เป็นต้นมา สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธได้รับพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และเข้าเฝ้าพระมเหสีเป็นการส่วนพระองค์ด้วย

พระยามหิบาลบริรักษ์เป็นหัวหน้าสำนักงานสถานราชทูตไทยจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1902 ก็พ้นตำแหน่งและรัฐบาลสยามก็ได้ส่งอัครราชทูตมาปฏิบัติงานที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กโดยมีสำนักงานที่บ้านเลขที่ 6 นี้อีก 3 ท่านได้แก่ พระยาศรีธรรมศาสน์(ค.ศ.1903-ค.ศ.1909) พระยาสุธรรมไมตรี(ค.ศ.1909-ค.ศ.1913) และพระวิศาลพจนกิจ(ค.ศ.1914-ค.ศ.1917) เป็นราชทูตคนสุดท้ายก่อนที่ไทยกับรัสเซียจะได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันภายหลังเกิดการปฏิวัติขึ้นในประเทศรัสเซียในปีค.ศ. 1917

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียหลังการปฏิวัติรัสเซียค.ศ. 1917

รัฐบาลสยามยังไม่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐรัสเซีย หลังเกิดการปฏิวัติชนชั้นกฎุมพี(Bourgeois Revolution) ขึ้นในประเทศรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีค.ศ. 1917 ซึ่งส่งผลให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสิ้นสุดลง และมีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนเฉพาะกาลขึ้น รัฐบาลสยามไม่ให้การยอมรับรัฐบาลเฉพาะกาล(Provisional Government) ที่นำโดยนายอเล็กซานเดอร์ เคียเรียนสกี้(Alexander Kerensky ค.ศ. 1881-1970) ที่ขึ้นมาปกครองรัสเซีย และสำนักพระราชวังก็ไม่ยินยอมที่จะให้นาย ไอ.จี. ลอรีส-เมลิคอฟ(I.G. Loris-Melikov) ซึ่งถูกส่งมาเป็นผู้แทนทางการทูตของรัฐบาลเฉพาะกาลของรัสเซียตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมค.ศ. 1917 ยื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ น่าจะสะท้อนความรู้สึกห่วงใยในชะตากรรมของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวและความคาดหวังของราชสำนักสยามที่จะเห็นความต่อเนื่องของระบบการปกครองของรัสเซียที่มีสถาบันกษัตริย์กลับมาเป็นสถาบันหลักของระบบต่อไป

แต่เดิมมีความเข้าใจกันว่ารัฐบาลสยามยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศรัสเซียในปีค.ศ. 1917 แต่จากการสืบค้นเพิ่มเติมในเอกสารนามสงเคราะห์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พบว่ารัฐบาลสยามมิได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียในปีค.ศ. 1917 รัฐบาลสยามไม่ถอนสถานราชทูตที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในทันทีที่เกิดการปฏิวัติสังคมนิยมขึ้นในรัสเซียเมื่อวันที่ 7 และวันที่ 8 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 แต่การไม่แสดงการยอมรับในรัฐบาลรัสเซียที่ปกครองโดยพรรคบอลเชวิค ทำให้รัฐบาลสยามต้องถอนสำนักงานของสถานราชทูตออกจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1918 แต่ก็ยังปฏิบัติงานการทูตต่อไปโดยย้ายสำนักงานไปอยู่ที่เมืองโวล็อกด้า(Vologda) และต่อมาที่เมืองอาร์คานเกลส์ (Archangels) ทั้งนี้ ก็เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศรัสเซีย โดยเฉพาะ ข่าวและชะตากรรมของพระเจ้าซาร์นิโคลัสและครอบครัวโดยใกล้ชิด และในทันทีที่ข่าวการสังหารพระเจ้าซาร์นิโคลัสและครอบครัว(ชั่วข้ามคืนของระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม ค.ศ. 1918) ได้รับการยืนยันชัดเจนแล้ว สถานราชทูตสยามก็ถอนตัวออกจากรัสเซียในช่วงกลางปีค.ศ. 1918 เป็นการยุติความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศที่ราบรื่นและแนบแน่นมาตลอดระยะเวลา 20 ปีลงอย่างเด็ดขาด

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตใหม่

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับรัสเซียได้ยุติลงตั้งแต่ที่รัสเซียได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสังคมนิยมในปีค.ศ. 1917 จนกระทั่งในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น สถานการณ์ทางการเมืองของรัสเซียหรือของสหภาพโซเวียตภายหลังการปฏิวัติ และของไทยมีพัฒนาการไปในทางที่เอื้ออำนวยให้สองประเทศดำเนินนโยบายที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันขึ้นใหม่ โดยไม่คำนึงว่าไทยและสหภาพโซเวียตมีอุดมการณ์ทางการเมืองและมีระบอบการปกครองที่เป็นปรปักษ์กัน

ประเทศไทยซึ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยภายหลังการปฏิวัติ 2475 เมื่อปีค.ศ. 1932 ตามมาพร้อมกับการดำเนินนโยบายสร้างรัฐไทยที่แข็งแกร่งของคณะผู้นำไทยใหม่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 30 ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างไม่กลัวเกรง ที่สำคัญ ได้ต่อสู้กับชาติมหาอำนาจตะวันตกทั้งในเวทีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและด้านการทหารเพื่อการขจัดความไม่เป็นธรรมที่ไทยได้รับจากการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติมหาอำนาจตะวันตกที่สืบเนื่องมาตั้งแต่อดีต และไม่เพียงแต่เท่านั้น ไทยยังกล้าประกาศทำสงครามกับฝรั่งเศสเพื่อช่วงชิงดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่ไทยถูกฝรั่งเศสยึดไปในปีค.ศ. 1893 กลับคืนมาอีกด้วย ซึ่งการดำเนินนโยบายเช่นนี้ได้ ไทยจำต้องสร้างพันธมิตรกับชาติมหาอำนาจใหม่ๆ ที่มีความแข็งแกร่งทางด้านทหาร เพื่อสนับสนุนให้ไทยสามารถดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวกับชาติมหาอำนาจตะวันตกเดิมได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นประเทศญี่ปุ่นแล้ว ไทยยังเลือกสหภาพโซเวียตในการสร้างพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับมหาอำนาจตะวันตก โดยรัฐบาลไทยก็ตัดสินใจริเริ่มดำเนินการเพื่อให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหภาพโซเวียตขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ปีค.ศ. 1939 และกระบวนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหภาพโซเวียตดำเนินไปอย่างประสบความสำเร็จเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1941 และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงไต้ที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียต

ไทยและสหภาพโซเวียตได้แลกเปลี่ยนสาส์นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1946 และแลกเปลี่ยนคณะทูตชุดแรกระหว่างกัน โดยเริ่มต้นจากการที่รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งนายอรรถกิตติ์ พนมยงค์ อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศสวีเดนเป็นอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหภาพโซเวียต โดยยื่นอักษรสาส์นตราตั้งวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1947 ในขณะที่ รัฐบาลสหภาพโซเวียตได้ส่งนายเซอร์เก เนียมชินา (Sergei S. Nemchina) นักการทูตวัย 35 ปี มาดำรงตำแหน่งอุปทูต ประจำสถานทูตสหภาพโซเวียตตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1947 และได้ยื่นอักษรสาส์นตราตั้งเป็นอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มของสหภาพโซเวียตประจำประเทศไทย ต่อพระองค์เจ้าชัยนาท รังสิต ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ 4 เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1948 ครั้งเมื่อเกิดรัฐประหารในประเทศไทยในปีค.ศ. 1947 และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 นายอรรถกิตติ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาลไทยจึงได้ส่งพระมหิทธานุเคราะห์ อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาดำรงตำแหน่งอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหภาพโซเวียต โดยยื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อนายเวียเชสลาฟ โมโลตอฟ(V.M. Molotov) ประธานคณะอภิมุขสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียต(Presidium of the Supreme Soviet of USSR) เทียบเท่าตำแหน่งประมุขของประเทศเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1948

ความสัมพันธ์ในช่วงสงครามเย็น

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพโซเวียตพัฒนามาเป็นลำดับภายใต้พัฒนาการของสถานการณ์โลกที่กำลังมีการก่อตัวขึ้นของสงครามเย็น สหภาพโซเวียตในฐานะประเทศสังคมนิยมเพียงประเทศเดียวในโลกที่อยู่ข้างฝ่ายผู้ชนะสงคราม ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ 2 ทาง ทางหนึ่ง ดำเนินความสัมพันธ์แบบปกติกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกภายใต้นโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของสองระบบ แต่ในเวลาเดียวกัน ดำเนินนโยบายส่งออกการปฏิวัติและสนับสนุนการปฏิวัติในบรรดาประเทศที่ต่อสู้เพื่อเอกราชในเอเชีย แอฟริกาและละตินอเมริกา ในขณะที่ด้านของประเทศไทย ขบวนการเสรีไทยซึ่งประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนสถานะของประเทศจากการอยู่ในค่ายของกลุ่มอักษะมาเป็นฝ่ายผู้ชนะสงครามได้นั้น ส่งผลให้รัฐบาลไทยในช่วงหลังสงครามโลกหันมาดำเนินนโยบายสนับสนุนค่ายโลกเสรีอย่างเต็มที่ และที่สำคัญ ในขณะที่สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนการปฏิวัติในประเทศจีนและในคาบสมุทรเกาหลีนั้น รัฐบาลไทยส่งกำลังทหารเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในสงครามคาบสมุทรเกาหลีต่อต้านขบวนการนิยมคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีค.ศ. 1953 และต่อมาเป็นแกนนำสำคัญในการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ SEATO

ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพโซเวียตได้เปลี่ยนสถานะจากมิตรมาเป็นศัตรู แต่โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลของทั้งไทยและสหภาพโซเวียตกลับใช้เครื่องมือทางการทูตในทุกรูปแบบพยายามที่จะธำรงรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรและเห็นอกเห็นใจระหว่างสองประเทศให้ยั่งยืนต่อไปอย่างถึงที่สุด รัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนคณะแรกมาเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 800 ปีการก่อตั้งกรุงมอสโกเมื่อปีค.ศ. 1947 และที่สำคัญรัฐบาลของสองประเทศได้ตกลงร่วมกันในการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ขั้นปกติ โดยได้แลกเปลี่ยนสาส์นในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1956 คือต่างฝ่ายต่างยกระดับหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตจากระดับอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ไปสู่ระดับเอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็ม โดยรัฐบาลสหภาพโซเวียตแต่งตั้งนายอิวาน ยาคูชิน(Ivan N. Yakushin) เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศไทยเป็นคนแรกโดยถวายสาส์นตราตั้งต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1956 ในขณะที่ฝ่ายไทยได้แต่งตั้งนายจี๊ด เศรษฐบุตร มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มประจำสหภาพโซเวียตเป็นคนแรก พร้อมกันนั้น รัฐบาลสหภาพโซเวียตได้มอบคฤหาสน์ประจำตำแหน่งของนายนิกิต้า ครุสชอฟ (Nikita Krushchev) ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตประจำกรุงมอสโก ที่ตึกเลขที่ 3 ถนน Eropkinsky Pereylok ให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตไทยและทำเนียบของเอกอัครราชทูตไทยอย่างสมเกียรติและยังคงใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตมาจนถึงทุกวันนี้ส่วนไทยก็ได้มอบอาคารเลขที่ 108 ที่ถนนสาธร ให้เป็นที่ตั้งสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียต ปัจจุบัน ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตไทยตั้งอยู่ที่ตึกเลขที่ 6 ถนน Serpov กรุงมอสโก

รัฐบาลของสองประเทศได้พยายามที่จะรักษาช่องทางการติดต่อทางการทูตระหว่างกันไว้ให้ได้ ในปีค.ศ. 1958 รัฐบาลไทยได้ส่งพระองค์เจ้าเปรม บุรฉัตรเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ เป็นการเยือนระดับสูงสุดนับตั้งแต่สองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเป็นต้นมา พระองค์เจ้าเปรม บุรฉัตรและพระชายาได้รับการถวายการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากนายคลิเมนต์ โวโรชิลอฟ (Kliment E. Voroshilov) ประธานคณะอภิมุขสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียต ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสหภาพโซเวียตได้ใช้การทูตวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการติดต่อและขยายความสัมพันธ์ให้ลงสู่ระดับประชาชน โดยเริ่มต้นการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมาเรียนที่สหภาพโซเวียตปีละจำนวน 200 ทุนตั้งแต่ปีค.ศ. 1958 เป็นต้นมา พร้อมกับการเชิญคณะนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นประจำ ซึ่งรัฐบาลไทยในสมัยจอมพลป.พิบูลสงครามก็ได้ใช้มิติความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมนี้เป็นช่องทางการติดต่อและธำรงความสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพโซเวียตต่อไป และที่ควรบันทึกไว้ ณ ที่นี้คือ ไทยได้ส่งภาพยนตร์เรื่องสันติ-วีณาเข้าประกวดในงานมหกรรมภาพยนตร์กรุงมอสโกเมื่อปีค.ศ. 1956 ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ฉายสู่สายตาของชาวรัสเซีย 

แม้สถานการณ์โลกที่เพิ่มระดับความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เมื่อสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกา ผู้นำโลกเสรี กับสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ได้ขยายตัวทั่วด้านและกระจายไปยังทุกภูมิภาค โดยเฉพาะ การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์และการทำสงครามประชาชนที่นำโดยขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง ในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ 60และต่อเนื่องถึงทศวรรษที่ 70 ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐบาลของสองประเทศก็ประสบความสำเร็จในการขยายความสัมพันธ์ไปยังมิติใหม่ๆ โดยเฉพาะ ด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยได้มีการลงนามความตกลงทางการค้า (Trade Agreement) ฉบับแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1970 ซึ่งตามมาพร้อมกับการ แลกเปลี่ยนหนังสือการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนการค้า (Trade Representative Office) ระหว่างสองประเทศ และในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1971 ได้เปิดเส้นทางคมนาคมทางอากาศระหว่างกันเป็นครั้งแรกซึ่งชาวไทยได้รู้จักสายการบินแอโรฟลอตที่ทำการบินระหว่างกรุงมอสโกกับกรุงเทพฯ ด้วยเครื่องบินอิล 72 (Ilyushin 72) นับแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งในอีก 35 ปีหลังจากนั้น บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) จึงได้เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในเส้นทางกรุงเทพฯกับกรุงกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย(สหภาพโซเวียต) ในช่วงวิกฤติการณ์เขมร

การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในกลุ่มประเทศอินโดจีนซึ่งประกอบด้วยเวียดนาม ลาวและเขมร ในช่วงปีค.ศ. 1975 มีนัยทางการเมืองที่สำคัญซึ่งไม่เพียงแต่ได้ส่งผลต่อการลดทอนบทบาทและอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างขนานใหญ่แล้วเท่านั้น หากยังได้สร้างความตึงเครียดรอบใหม่ในภูมิภาคอันเกิดจากการต่อสู้ช่วงชิงอิทธิพลระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตในระดับนำของพรรคคอมมิวนิสต์ของสามประเทศในอินโดจีนอีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพโซเวียตเข้าสู่ภาวะชะงักงัน และไม่ไว้เนื่อเชื่อใจระหว่างกัน ไทยมีความหวั่นเกรงที่จะถูกดึงให้เข้าไปมีบทบาทในความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตซึ่งทำสงครามตัวแทนระหว่างกันโดยผ่านรัฐบาลเวียดนามที่สหภาพโซเวียตให้การหนุนหลังฝ่ายหนึ่งกับรัฐบาลเขมรแดงที่จีนให้การสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจบลงด้วยการที่เวียดนามส่งกำลังทหารเข้ายึดครองกัมพูชาและจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยนายเฮง สัมรินขึ้นปกครองประเทศในปีค.ศ.1978 โดยมีกองทหารเวียดนามให้หลักประกันในด้านความมั่นคง

รัฐบาลไทยซึ่งต้องการสร้างหลักประกันให้แก่ความมั่นคงของไทยจากความเป็นไปได้ที่เวียดนามจะยกกำลังทหารเข้าโจมตีไทย จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การรักษาระยะห่างอย่างเท่าเทียมกันกับประเทศมหาอำนาจในกรอบนโยบายต่างประเทศของไทยเป็นครั้งแรกในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อได้เดินทางไปเข้าพบประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์(Jimmy Carter) ที่กรุงวอชิงตันแล้ว ก็ได้ตัดสินใจเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตในเวลาใกล้เคียงกันในทันที ระหว่างวันที่ 21-27 มีนาคม ค.ศ. 1979 การเยือนสหภาพโซเวียตของพลเอกเกรียงศักดิ์ฯ เป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลครั้งแรกของไทยนับตั้งแต่ที่สองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเป็นต้นมา โดยมีเป้าประสงค์ทางการเมืองที่สำคัญคือต้องการให้สหภาพโซเวียตที่สนับสนุนเวียดนาม ตระหนักถึงท่าทีที่เป็นกลางของไทยและให้สหภาพโซเวียตประกันสถานะความเป็นกลางของไทยซึ่งหมายถึง ประกันความมั่นคงของไทยที่ปราศจากการถูกโจมตีจากเวียดนาม ซึ่งนายเลโอนิด เบรฌเนฟ(Leonid Brezhnev) เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตและประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตให้การตอบสนองด้วยดี

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียในสมัยของการปฏิรูปทางการเมืองในสหภาพโซเวียต

กระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสรรค์สันติภาพในกัมพูชาสิ้นสุดลงในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ซึ่งเกิดจากการผสมผสานของปัจจัยทางสากลและปัจจัยภายในที่เป็นคุณด้านต่างๆ หนุนช่วย โดยเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงท่าทีและนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียตที่มีต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างสำคัญซึ่งรัฐบาลสหภาพโซเวียตได้ส่งสัญญาณผ่านสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ(Mikhail Gorbachev) ที่ได้แสดงปาฐกถาที่เมืองวลาดิวอสต๊อกในปีค.ศ. 1986 ตามมาพร้อมกับการปรับสัมพันธภาพครั้งใหญ่ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตระหว่างปีค.ศ. 1986-1989 และการเข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหากัมพูชาอย่างแข็งขันของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะ การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและสหภาพโซเวียตเป็นครั้งแรก โดยนายเอดูอาร์ด เชวาร์ดนาดเซ่ (Eduard Shevardnadze) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ไปเยือนไทยเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1987 ซึ่งได้หารือกับพล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในประเด็นจุดยืนและท่าทีของสหภาพโซเวียตในการแก้ไขปัญหากัมพูชา และการเยือนตอบแทนของพล อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา ระหว่างวันที่ 10-14 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลสหภาพโซเวียตให้เกียรติแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเข้าพบนายอังเดร กรามึยโก (Andrei Gromyko) ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตที่เมืองโซชิ (Sochi) ซึ่งได้ให้คำมั่นต่อไทยเป็นครั้งแรกที่จะสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ถอนทหารเวียดนามออกจากกัมพูชาซึ่งเป็นเงื่อนไขแรกสุดของการเจรจาเพื่อสันติภาพในกัมพูชาและสองฝ่ายได้แสดงความเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันนำสันติภาพที่ถาวรมาสู่กัมพูชาในเร็ววัน

ความสำเร็จของการเยือนสหภาพโซเวียตของพล อ.อ. สิทธิ เศวตศิลาและแสงสว่างที่ปรากฏให้เห็นในกระบวนการเพื่อสันติภาพในกัมพูชา ได้เรียกความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจที่รัฐบาลไทยมีต่อสหภาพโซเวียตกลับคืนมา และนำมาซึ่งการเยือน”แบบละลาย”น้ำแข็งของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ได้เยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16-22 พฤษภาคม ค.ศ. 1988

การเยือนสหภาพโซเวียตของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับสหภาพโซเวียต กล่าวคือ เป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการขยายและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในมิติต่างๆ อย่างทั่วด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ-การค้า ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ และด้านวัฒนธรรมและการศึกษา ทั้งในระดับภาครัฐและเอกชนและการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนที่ปราศจากความเคลือบแคลงระแวงใจ ที่สำคัญ ได้บุกเบิกศักราชของความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค เอื้อประโยชน์ต่อกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของระบบการเมืองและอุดมการณ์ เป็นความสัมพันธ์ที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นที่ตั้ง และนำมาซึ่งการเสด็จเยือนของราชวงศ์ระดับสูงถึง 3 พระองค์ ได้แก่ การเสด็จเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการของพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ระหว่าง 16-21 พฤษภาคม ค.ศ. 1989 การเสด็จเยือนสหภาพโซเวียตของเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปีเดียวกัน และการเสด็จเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 17-24 มีนาคม ค.ศ. 1993 ในขณะที่สหภาพโซเวียตได้ส่งคณะผู้แทนทางการระดับสูงนำโดยนายนิโคลัย รึฌคอฟ (Nikolai Ryzhkov) นายกรัฐมนตรี เยือนไทยเป็นการตอบแทนระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990 และถือเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในระดับหัวหน้าคณะรัฐบาล

นายนิโคลัย รึฌคอฟ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานวโรกาสให้เข้าเฝ้า และได้หารือข้อราชการกับพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ นายกรัฐมนตรีและพล อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งฝ่ายสหภาพโซเวียตยอมรับในบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการแก้ไขปัญหากัมพูชา และแนวทางการปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนของไทยตามแนวทางที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยดำเนินมาตลอดกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

ผลสำเร็จของการผนึกกำลังทางการทูตระหว่างไทยกับสหภาพโซเวียตในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ ไม่เพียงแต่ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศให้มีความมั่นคงแล้วเท่านั้น ยังได้เปิดมิติความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอีกด้วย ไทยได้แสดงการสนับสนุนการเข้ามาปฏิสัมพันธ์ของรัสเซียในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะ สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกของรัสเซียในเวที APEC การได้รับสถานะประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partner) ขององค์การ ASEAN สนับสนุนบทบาทของรัสเซียในการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคทั้งในกรอบ ASEAN Regional Forum และสนธิสัญญาด้านความมั่นคงกรอบต่างๆ ในขณะที่ประเทศไทยแสดงความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยบูรณาการเขตเศรษฐกิจไซบีเรียและภาคตะวันออกไกลของรัสเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก

ความสัมพันธ์ในระยะปัจจุบัน

ในช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ทั้งไทยและรัสเซียต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก ซึ่งทำให้ประเทศทั้งสองดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ใกล้ชิดอบอุ่นเหมือนเช่นความสัมพันธ์ที่ได้รับการปูทางไว้ด้วยความใกล้ชิดระหว่างอธิราชเมื่อแรกเริ่มเมื่อ 100 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของสองประเทศจัดได้ว่ามีลักษณะ “แม้จะไม่เป็นพันธมิตรกัน แต่ก็ไม่เคยเผชิญหน้ากัน” และพัฒนาการในคุณภาพดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนอย่างขนานใหญ่ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งก็คือ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปีค.ศ. 1991 และตามมาพร้อมกับการสิ้นสุดลงของสงครามเย็นระหว่างสองค่ายและสองระบบการเมืองที่เป็นปรปักษ์กัน

การสิ้นสุดของสงครามเย็นได้ลดบรรยากาศความตึงเครียดของโลกและนำไปสู่บรรยากาศใหม่ของการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างฝ่ายต่างๆที่เคยยืนอยู่คนละขั้วกัน ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆที่รับรองเอกราชของสหพันธรัรัสเซียและยอมรับในสถานะทางกฎหมายแห่งรัฐของรัสเซียในฐานะประเทศผู้สืบสิทธิ์อำนาจและพันธกรณีของสหภาพโซเวียต บนพื้นฐานดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียจึงได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคแห่งการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันและการพัฒนาศักยภาพความร่วมมือให้บังเกิดผลสำเร็จสูงสุด ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของกระบวนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียนับแต่ที่สองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเป็นต้นมา นั่นก็คือ การเยือนไทยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2003

การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีปูติน เป็นการเยือนไทย เป็นครั้งแรกของผู้นำประเทศระดับประมุขของรัสเซีย เป็นการเยือนที่จุดพลังให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศก้าวหน้าอย่างมีพลวัตสูงยิ่ง ในทุกด้านและทุกมิติของความสัมพันธ์โดยไม่มีข้อจำกัด บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ดังที่ผู้นำรัสเซียได้กล่าวถึงระดับความสัมพันธ์ของไทยกับรัสเซียภายหลังการเยือนครั้งนี้ว่า “รัสเซียพึงพอใจที่ความร่วมมือระหว่างสองประเทศได้พัฒนาไปอย่างพลวัตยิ่ง โดยเฉพาะ ด้านการเมืองและเศรษฐกิจ-การค้า ในขณะที่ ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการศึกษามีอนาคตที่สดใส”

ประธานาธิบดีปูตินและนางลยุดมิล่า ปูตินา ภริยา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานวโรกาสให้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้พระราชทานงานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นเกียรติแก่ผู้นำสูงสุดของประเทศรัสเซีย ซึ่งในวาระแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญนี้ พระประมุขและประมุขของสองประเทศได้พบกันเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย พระประมุขของสองประเทศได้ทรงพบกันที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นเวลากว่า 105 ปีล่วงมาแล้ว ผู้นำรัสเซียได้แสดงให้เห็นถึงความเคารพที่มีต่ออดีตของความสัมพันธ์ระดับอธิราชละความสัมพันธ์อันใกล้ชิดอันอบอุ่นของสองประเทศ โดยได้ถวายสำเนาพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานเลี้ยงอาหารค่ำด้วย 

ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งของไทยกับรัสเซียซึ่งได้ก่อรูปขึ้นภายหลังการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำรัสเซียวาระนี้ ได้สร้างกลไกการตัดสินใจระดับสูงในการผลักดันการแก้ไขปัญหาที่สำคัญระหว่างสองประเทศขึ้น นอกเหนือจากกลไกและช่องทางการติดต่อปกติที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วในทุกด้าน ได้มีการจัดตั้งกลไกการหารือและการตัดสินใจทางการเมืองระดับสูงระหว่างผู้นำเพื่อหารือในประเด็นปัญหาทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาการเพิ่มขีดความสามารถของไทยในการป้องกันประเทศและความร่วมมือด้านยุทธภัณฑ์ การดำเนินความร่วมมือด้านพลังงานในระดับยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะ การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (energy hub) และการเปิดตลาดสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง เช่น เนื้อไก่แข่แข็งของไทย 

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศเป็นพื้นฐานสำคัญให้ศักยภาพความร่วมมือของสองประเทศพัฒนาไปในทุกมิติและทุกด้าน มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศก้าวเลยหลัก 1 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปีค.ศ. 1990 เป็นต้นมาและขึ้นสู่ระดับสูงสุดถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์ในปีค.ศ. 1993 ก่อนที่ประเทศทั้งสองจะประสบวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปีค.ศ. 1997 และ 1998 และคาดว่าจะขึ้นสู่ระดับสูงสุด 1.9-2.0 พันล้านดอลลาร์ในปีค.ศ 2006 ในขณะที่การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน โดยเฉพาะ ตัวเลขนักท่องเที่ยวขยายตัวไม่หยุดยั้งและเพิ่มขึ้นเลยหลักแสนคนตั้งแต่ปีค.ศ. 2005 เป็นต้นมา ไม่เพียงแต่เท่านี้ ความร่วมมือขยายตัวไปสู่การมีความร่วมมือในสาขาใหม่ เพิ่มเติมจากสาขาความร่วมมือดั้งเดิมที่ปฏิบัติเป็นรูปธรรมแล้ว อาทิ ความร่วมมือด้านความมั่นคง ความร่วมมือด้านข่าวกรอง ความร่วมมือด้านเทคนิคการทหาร ความร่วมมือด้านอวกาศและความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเยือนจักรวรรดิรัสเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 3-10 กรกฎาคมเมื่อปีค.ศ. 1897 ซึ่งถือเป็นห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับรัสเซียได้เริ่มต้นสถาปนาระหว่างกันเป็นต้นมานั้น ได้ปรากฏเหตุการณ์ต่างๆของโลกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศผันแปรไปในทิศทางต่างๆ อย่างยากที่จะมีผู้ใดสามารถพยากรณ์หรือคาดการณ์ได้ หากการเสด็จเยือนรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ดังกล่าว หลังจากนั้นแล้วก็คงไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะมีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งยวดต่อประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับประเทศรัสเซีย เทียบได้กับการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้แทนพระองค์มาเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 2-11 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 แต่ห้วงของเวลาระหว่างนั้นเล่า มีแต่หน้าของประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีลักษณะซับซ้อน มิใช่เป็นเส้นตรงที่มีแต่ความราบรื่นมาโดยตลอด ความสัมพันธ์ที่เคยขึ้นถึงระดับอธิราชในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ระหว่างปีค.ศ. 1897 ถึงปีค.ศ. 1917 ต้องมาขาดสะบั้นลงเมื่อเกิดการปฏิวัติสังคมนิยมขึ้นในรัสเซียเมื่อปีค.ศ. 1917 จนกระทั่งกลับมาสถาปนาความสัมพันธ์กันใหม่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเวลาที่หายไประหว่างนั้น ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง จากนั้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นไป คือพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีอุดมการณ์และระบบการเมืองในขั้วที่แตกต่างกัน แต่สองประเทศสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จนเมื่อพัฒนาการของโลกเข้าสู่ยุคของสงครามเย็นอย่างเต็มตัวในช่วงทศวรรษที่ 60 และ 70 แล้ว ไทยและรัสเซียจึงถูกจับให้ยืนอยู่คนละข้างกันและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแม้จะต้องเผชิญหน้ากัน แต่ก็ไม่เคยเป็นศัตรูต่อกัน การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและระบบสังคมนิยมในรัสเซียเป็นพัฒนาการของโลกที่สำคัญที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกลับสู่ปกติ มีเหตุการณ์ในความสัมพันธ์หลายเหตุการณ์ที่เรียกว่า เป็นเหตุการณ์”ละลายน้ำแข็ง” ซึ่งเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ที่พัฒนาจากความไม่ปกติไปสู่ปกติ จากปกติไปสู่ความเชื่อมั่นระหว่างกัน และจากความเชื่อมั่นระหว่างกันจนในที่สุดนำไปสู่การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประมุขและความสัมพันธ์ฉันมิตรของสองประเทศที่ก่อตัวตามมาเหมือนกับจะยืนยันในสัจธรรมของประวัติศาสตร์อีกนับครั้งไม่ถ้วนว่าประวัติศาสตร์คือกงล้อที่จะหมุนกลับมาซ้ำรอยตัวมันเองเสมอ

การเยือนไทยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ถือเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “หัวรถจักร” ของขบวนพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียนับแต่ที่สองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเป็นต้นมา เพราะเป็นการเยือนไทยเป็นครั้งแรกของผู้นำประเทศระดับประมุขของรัสเซีย และที่สำคัญ ประมุขของสองประเทศได้พบกันเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ได้ทรงพบกันที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นเวลายาวนานกว่า 1 ศตวรรษ ล่วงมาแล้ว ส่วนการเสด็จฯ เยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในฐานะผู้แทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการเสด็จเยือนประเทศรัสเซียในระดับประมุขของไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 110 ปีที่ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศรัสเซียเมื่อปีค.ศ. 1897 เป็นต้นมา เป็นการเสด็จฯ เยือนเพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ทั้งในฐานะประมุขของประเทศและในฐานะหลานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสานความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างไทยกับรัสเซียซึ่งสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาไว้ให้จรรโลงสืบไปอย่างวัฒนาถาวร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติด้วยความเหนื่อยยากและด้วยความอุตสาหะวิริยะไม่ต่างจากที่พระเปตามหัยกาได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงความกังวลให้ประมุขของรัสเซียรับรู้ถึงความเป็นห่วงประเทศชาติของพระองค์ที่เกรงว่าจะตกเป็นอาณานิคมของชาติจักรวรรดินิยมในคราวที่พระองค์เสด็จรัสเซียเมื่อศตวรรษที่แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงแสดงความห่วงกังวลให้ผู้นำรัสเซียรับรู้ถึงความเป็นห่วงในประเทศชาติของพระองค์ไม่น้อยไปกว่านั้น โดยเฉพาะ ในเรื่องความยากจนของราษฎรของพระองค์และปัญหาสภาพแวดล้อมของประเทศไทยที่เสื่อมโทรมลงจากความเห็นแก่ตัวของคนที่ตัดไม้ทำลายป่าโดยไม่เห็นแก่ภัยพิบัติที่จะเกิดแก่ส่วนรวมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับประมุขของสองประเทศนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นฉากสุดท้ายของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียที่มาบรรจบครบรอบตัวของมัน หากถือเอาการแลกเปลี่ยนการเยือนของประมุขสองประเทศที่เริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่พระเจ้านิโคลัสที่ 2 เสด็จมาเยือนประเทศสยามและการเสด็จเยือนรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อศตวรรษที่แล้ว เป็นฉากเริ่มต้น แต่สำหรับคนรุ่นเราในปัจจุบัน ที่ได้เห็น ที่ได้สัมผัส และที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์การเสด็จฯ เยือนรัสเซียของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วยความปลื้มปิติยินดีนี้ การเสด็จฯ เยือนของพระองค์คือฉากเริ่มต้นของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่จุดพลังให้ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศก้าวหน้าอย่างมีพลวัตสูงยิ่ง ในทุกด้านและทุกมิติของความสัมพันธ์โดยไม่มีข้อจำกัด บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในบริบทใหม่ที่มีความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประมุขเป็นแก่นแกน เมื่อพระประมุขได้ทรงขับเคลื่อนประวัติศาสตร์จนมาถึงจุดนี้แล้ว ที่เหลือคือชนรุ่นเราที่มีหน้าที่สืบสานภารกิจทางประวัติศาสตร์นี้ต่อไป และเมื่อความสัมพันธ์ของสองประเทศจะเวียนมาครบรอบตัวของมันในศตวรรษข้างหน้า ชนรุ่นนั้นของอนาคตจะเป็นผู้มาทำหน้าที่พยานของประวัติศาสตร์เหมือนที่ชนรุ่นของเรากำลังทำหน้าที่อยู่ในขณะนี้