สงกรานต์ของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก

สงกรานต์ของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ธ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ธ.ค. 2566

| 719 view

สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า "สงกรานต์" เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่ราศีหนึ่ง ช่วงเวลาสงกรานต์ของไทย เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ดังนั้น จึงเป็นประเพณีการฉลองขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ โดยทั่วไปมีกำหนด 3 วัน คือ วันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ และเป็นวันสิ้นปีเก่า วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา ซึ่งเป็นวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ เมือง Kasane สาธารณรัฐบอตสวานา ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage - ICS-ICH) สมัยสามัญ ครั้งที่ 18 ซึ่งมีผู้แทนบอตสวานาทำหน้าที่ประธาน ได้มีมติให้ขึ้นทะเบียน "สงกรานต์" หรือ "Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival" ในบัญชีรายชื่อตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งมวลมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity - บัญชี RL) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก

การขึ้นทะเบียนในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของไทยและถือเป็นการสร้างความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของสงกรานต์ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมและประเพณีที่สำคัญของไทย ซึ่งแสดงบทบาทอันแข็งขันของชุมชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าถึง พัฒนา และสงวนรักษาประเพณีดังกล่าวไว้ให้แก่ชนรุ่นหลัง อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยด้วย

อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัยสามัญ (General Conference) ของยูเนสโก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนรักษาแนวปฏิบัติการแสดงออกความรู้และทักษะที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (ICH) ของชุมชนหรือกลุ่มคน โดยต้องการสร้างความเคารพต่อ ICH และสร้างความตระหนักตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นจนถึงสากลถึงความสำคัญของ ICH และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสงวนรักษา โดย ICH สามารถอยู่ในรูปแบบการแสดงออกทางวาจาและภาษา การแสดงศิลปะ แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีทางศาสนา เทศกาลเฉลิมฉลอง และ/หรืองานฝีมือ

ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2559 ปัจจุบัน ไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในบัญชี RL แล้ว 4 รายการ ได้แก่ โขน (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2561) นวดไทย (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2562) โนรา (ได้รับขึ้นทะเบียนในปี 2564) และสงกรานต์ (เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในปีนี้)