งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ (Thailand Biennale, Chiang Rai 2023)

งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ (Thailand Biennale, Chiang Rai 2023)

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 พ.ย. 2566

| 672 view

Thailand Biennale คืออะไร? 

เบียนนาเล (Biennale) เป็นภาษาอิตาเลียน ใช้เรียกการจัดเทศกาลหรือ มหกรรมศิลปะที่จัดขึ้นทุก ๆ ๒ ปี มหกรรมศิลปะนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ เวนิส เบียนนาเล ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 ประเทศไทยโดยสำนักงาน ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงานดังกล่าวตั้งแต่ ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน 

 

Thailand Biennale

ในปี 2561 ประเทศไทยเริ่มเป็นเจ้าภาพจัดงานภายใต้ชื่อ มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “Thailand Biennale” ที่จังหวัดกระบี่ ครั้งที่ 2 หมุนเวียนไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่จังหวัดนครราชสีมา และครั้งที่ 3 ที่จังหวัดเชียงราย โดยจะจัดทุก ๆ 2 ปี เริ่มต้นจากเมืองศิลปะทั้ง 3 จังหวัด เนื่องจากมีศักยภาพและทุนทางวัฒนธรรม สามารถนำมาสร้างมูลค่าทางสังคม เศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจาก การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้

การจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Krabi 2018 เป็นการจัดงานครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Edge of the Wonderland” หรือสุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์ ภายใต้การคัดสรรของ เจียง เจฮง ภัณฑารักษ์หลัก โดยมีศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 50 คน จัดแสดงผลงานทั่วจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่ในเมืองจนถึงชายหาด กลางทะเล บนเกาะ ในถ้ำ ตามจุดต่างๆ ในป่าเขา และอุทยานแห่งชาติ มีผู้เข้าร่วมงาน 2.6 ล้านคน เกิดรายได้เพิ่มขึ้นที่จังหวัดกระบี่ 864 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 3,300 อัตราและมีรายรับภาษี 323 ล้านบาท

การจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2021 จัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้แนวคิด “Butterflies Frolicking on the Mud: Engendering Sensible Capital” หรือในชื่อภาษาไทย “เซิ้งสิน…ถิ่นย่าโม” โดยมียูโกะ ฮาเซกาวา เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ร่วมด้วยทีมภัณฑารักษ์ ได้แก่ ธวัชชัย สมคง วิภาช ภูริชานนท์ และ เซฮา คูโรซาวา มีศิลปินทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจาก 25 ประเทศ เข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงานจำนวน 53 ชิ้น จัดแสดงในหลายพื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย วัด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ และชุมชนท้องถิ่นซึ่งสร้างงานหัตถกรรม อาทิ เครื่องปั้นดินเผาและทอผ้าไหม เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมงาน 1.96 ล้านคน เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 3,051 ล้านบาท มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 200.7 ล้านบาท รายรับภาษี 30.5 ล้านบาท และจ้างงาน 405 อัตรา

ในการจัดงานครั้งที่ 3 รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยร่วมกับจังหวัดเชียงราย จัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ขึ้น ณ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึง วันที่ 30 เมษายน 2567 เพื่อสร้างรายได้จากต้นทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรม ใช้มิติทางศิลปะสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว สินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบของเทศกาลศิลปะนานาชาติ ตอบสนองต่อนโยบายประเทศไทย 4.0 ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของกระทรวงวัฒนธรรม และการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย “Soft power” 

 

การจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 โดยมีฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ร่วมกับกฤติยา กาวีวงศ์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ พร้อมด้วยภัณฑารักษ์ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ และมนุพร เหลืองอร่าม  ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก (The Open World)” ซึ่งมีแรงบันดาลใจ จากพระพุทธรูปปางเปิดโลกที่โบราณสถาน วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จะร่วมกันจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินไทยและต่างชาติจากลุ่มน้ำโขงถึงแม่น้ำอะเมซอน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จนถึงธรรมชาติและนิเวศวิทยา ในพื้นที่สำคัญทั่วจังหวัดเชียงราย เช่น หอศิลป์ ศูนย์ประชุม พิพิธภัณฑ์ วัด ตลอดจนโบราณสถาน ได้คัดเลือกศิลปินเข้าร่วมแสดงแล้ว 60 คน จาก 21 ประเทศ ครอบคลุมจากทุกทวีป ประกอบด้วยศิลปินต่างประเทศ 38 คน และศิลปินไทย 22 คน โดยมีรูปแบบการจัดแสดง ออกเป็น 3 ส่วน ไดhแก่ 1) นิทรรศการหลัก แสดงผลงาน ศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site Specific Installation) ของศิลปิน 60 คนในเขต อำเภอเมืองและเชียงแสน 2) Pavilion หรือ ศาลาแสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ 10 แห่งในอำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียง 3) Collateral Events เป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นในช่วงงาน เช่น เทศกาล ดนตรีชาติพันธุ์ งานฉายภาพยนตร์ การแสดงสดอื่น ๆ และการเยี่ยมชมบ้านหรือ สตูดิโอ ของศิลปินในจังหวัดเชียงรายตามอำเภอต่างๆ  

“เปิดโลก” (The Open World) มีความหมายที่ตรงไปตรงมา แต่มีนัยยะหลายประการที่สื่อถึงความต้องการ “เปิด” การรับรู้ศิลปะของผู้คนสามารถนำพาไปสู่การตั้งคำถามด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยว่าจะสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ของอนาคตที่ดีกว่านี้ได้อีกหรือไม่

การจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินได้มีเวทีในการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาและค้นหาตัวตนสู่ความเป็นเลิศด้านศิลปะ ศิลปินไทยได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานและแนวคิดจากศิลปินในระดับนานาชาติ ซึ่งถือเป็นแนวทางการสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพในเวทีระดับสากล รวมไปถึงการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือเพื่อก้าวสู่ความเป็นสากลในอนาคต

การดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในนามของรัฐบาลไทย ได้แก่ ประชาชน ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัด เครือข่ายหอศิลป์ ศิลปินไทย และต่างประเทศ เป็นต้น โดยผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ส่งเสริมศักยภาพความร่วมมือ สร้างความรักและความภาคภูมิใจในต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมให้แก่คนในชุมชน และประชาชนชาวเชียงราย ตลอดจนพัฒนาภาพลักษณ์เชิงบวกในมิติศิลปะสร้างสรรค์ให้แก่ประเทศไทย สามารถเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในมิติทางศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาทัศนศิลป์ให้กับวงการศิลปะไทย อีกทั้ง ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรด้านศิลปะในด้านการบริหารจัดการงานศิลปะร่วมสมัย และงานด้านภัณฑารักษ์อีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ