ไทยร่วมจัด “Thai Pavilion” ณ งานเทศกาล “Russian Creative Week. Moscow Fest” ก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยในรัสเซีย

ไทยร่วมจัด “Thai Pavilion” ณ งานเทศกาล “Russian Creative Week. Moscow Fest” ก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยในรัสเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ก.ค. 2566

| 1,305 view

ในช่วงวันที่ 5-9 กรกฎาคม 2566 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก พร้อมด้วยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (Creative Economy Agency: CEA) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยและศักยภาพด้านอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยใน “Thai Pavilion” ในช่วงเทศกาล “Russian Creative Week. Moscow Fest” ที่สวนสาธารณะ Gorky Park ใจกลางกรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเป็นเทศกาลประจำปีขนาดใหญ่ที่จัดโดยสำนักงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries Agency: CIA) ภายใต้รัฐบาลกรุงมอสโก และในปีนี้มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่ได้รับเชิญให้ร่วมจัดแสดงผลงานและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกรุงมอสโก โดยหน่วยงานทั้ง 4 องค์กรได้นำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด “Creative Thai Festival: Lively Thai in Moscow” และแนวคิด “From Local Wisdom to Global Living”

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ได้จัดพิธีเปิด “Thai Pavilion” อย่างเป็นทางการจัดขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 โดยนายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เป็นประธาน ร่วมกับนาย Alexey Fursin หัวหน้าสำนักงานพัฒนาผู้ประกอบการและนวัตกรรมแห่งกรุงมอสโก และนายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการ CEA โดยมีแขกผู้มีเกียรติระดับสูงจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของรัสเซีย รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้านวัฒนธรรม ผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สื่อมวลชน และ bloggers รัสเซีย ไปร่วมพิธีอย่างคับคั่ง

ภายในงานพิธีเปิด ผู้เข้าร่วมได้เดินชมและรับฟังรายละเอียดของผลงานการออกแบบที่นำมาจัดแสดงจากผู้แทน CEA และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งทีมงานอาสาสมัครชาวรัสเซีย ซึ่งประกอบด้วย ผลงานด้านศิลปหัตถกรรม เสื้อผ้าและสิ่งทอของนักออกแบบและผู้ผลิตของไทย ได้แก่ เปรมประชา คอลเลคชั่น/ Blook link/ Jittrakarn/ Live Life Detail/ Ten Fingers/ Basic Teeory/ Bamboo/ บริษัท ไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ จำกัด/ ทอบุญ/ บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด/ บริษัท เพอร์มา คอร์ปอเรชั่น จำกัด/ บริษัท กรีนสวิลล์ จำกัด ตลอดจนตัวอย่างภาพยนตร์ เกมและแอนิเมชันไทย ซึ่งสนับสนุนโดยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์เเห่งชาติ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย โดยผู้เข้าร่วมพิธีเปิดต่างชื่นชมและให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ แฟชั่น และสิ่งทอที่นำวัสดุท้องถิ่นมาแปรรูปหรือพัฒนาต่อยอดด้วยการออกแบบที่ล้ำสมัยแต่คงเอกลักษณ์ความเป็นไทยและตอบสนองวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ 

นอกจากนั้น สื่อจากสำนักข่าวและเว็บไซต์ต่าง ๆ อาทิ สถานีโทรทัศน์ NTV และ Channel One และหนังสือพิมพ์ Izvestia ได้ขอสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตฯ ผู้อำนวยการ CEA และอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกี่ยวกับที่มาและการเข้าร่วมงานเทศกาลฯ และการร่วมจัดแสดง Thai Pavilion ของไทย ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ กล่าวกับสื่อด้วยว่า “Creativity keeps humanity alive” กล่าวคือ ความคิดสร้างสรรค์ทำให้มวลมนุษยชาติดำรงอยู่ต่อไป และรังสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่จะเป็นความอยู่รอดตามบริบทที่เปลี่ยนไปของโลก โดยจากผลงานที่นำมาแสดงในงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงจุดแข็งด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่ทรงคุณค่า รวมถึงความมุ่งมั่นและแรงบันดาลใจของนักออกแบบไทยในการผลิตงานที่แสดงถึงศักยภาพด้านอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยสู่สายตาชาวรัสเซีย อีกทั้งเชื่อว่าการเข้าร่วมงานเทศกาลฯ ของไทยในครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้นักออกแบบและนักสร้างสรรค์ของไทยและรัสเซียได้มีปฏิสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายระหว่างกันให้แน่นแฟ้นอันจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงการสร้างความร่วมมืออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ