เทศกาลลอยกระทง ประเพณีคู่ชาวไทย

เทศกาลลอยกระทง ประเพณีคู่ชาวไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ย. 2566

| 4,920 view

เทศกาลลอยกระทง  ประเพณีคู่ชาวไทย

ลอยกระทงคือหนึ่งในประเพณีสำคัญระดับชาติของไทย ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ในสาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล และประเทศไทยเตรียมเสนอประเพณีลอยกระทงเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ในงานเทศกาลไทย ณ กรุงมอสโก ประจำปี 2566 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ร่วมกับชุมชนชาวไทยในกรุงมอสโกได้ร่วมสืบสานและเผยแพร่สาธิตการทำกระทงไทยให้เป็นรู้จักมากยิ่งขึ้นในรัสเซีย

ข้อมูลทั่วไปของประเพณีลอยกระทง

ลอยกระทง ลอยอะไร ลอยทำไม ใครได้อะไรจากเทศกาลลอยกระทง?

ลอยกระทงคือหนึ่งในประเพณีสำคัญระดับชาติของไทย ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ในสาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล

ต้นกำเนิดของประเพณีลองกระทงมีคำอธิบายอยู่มากมายหลายตำนาน หากข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือมากที่สุดก็คือ การลอยกระทงเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดมายาวนานในดินแดนสุวรรณภูมิ ประเพณีที่คล้ายคลึงกับการลอยกระทงของไทยมีปรากฏทั้งในอินเดีย พม่า ลาว และกัมพูชา โดยในฤดูน้ำหลาก บรรดาผู้อาศัยน้ำในการเพาะปลูกก็ทำกระทงเพื่อลอยไปกับสายน้ำ เป็นการขอบคุณแม่คงคาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานน้ำและความอุดมสมบูรณ์

ช่วงเวลาของการลอยกระทง

คนไทยลอยกระทงกันในวันเพ็ญเดือนสิบสอง โดยประเพณีของแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น ภาคกลางจะนิยมจัดเป็นเทศกาลงานสนุกรื่นเริง มีมหรสพและการจุดดอกไม้เพลิง ผู้คนทำกระทงใบตองปักดอกไม้และธูปเทียน สำหรับอธิษฐานขอพรและขอขมาแม่คงคา เทวีแห่งสายน้ำ

สำหรับคติความเชื่อในภาคเหนือ จะลอยกระทงเพื่อส่งประทีป ดอกไม้ ธูปเทียนไปถวายนมัสการต่อพระมหาอุปคุตเจ้า ผู้มีบริกรรมพำนัก ณ ใต้ท้องมหานที มีการทำความสะอาดบ้านเรือนประดับหิ้งบูชาพระด้วยดอกไม้ จุดประทีปหรือเทียนเป็นพุทธบูชา รวมทั้งมีการประดิษฐ์โคมไฟ หรือ “โคมผัด” สำหรับประดับภายในวัด ทั้งมีการฟังเทศน์มหาชาติตลอดทั้งคืนและมีการปล่อยโคมลอยเพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นฟ้า

ส่วนในภาคใต้ ในอดีตไม่ได้มีเทศกาลลอยกระทงช่วงวันเพ็ญเดือนสิบสอง แต่เป็นการประดิษฐ์แพบรรจุอาหาร นำไปปล่อยให้ลอยตามสายน้ำเพื่อสะเดาะเคราะห์ ปัดสิ่งร้าย รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บให้หลุดพ้นไปจากตัว

และในภาคอีสาน เรียกการลอยกระทงว่าเทศกาล “ลอยเรือไฟ” หรือ “ปล่อยเฮือไฟ” ซึ่งปฏิบัติกันในเทศกาลออกพรรษาช่วงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยชาวบ้านจะรวมตัวกันเป็น “คุ้ม” ด้วยการยึดเอาไว้ใกล้บ้านเป็นหลักในการรวมตัว ชาวคุ้มต่าง ๆ จะจัดแข่งเรือและไหลเรือไฟประชันกันในช่วงเทศกาลนี้

 

คุณค่าของประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภูมิภาคอาจแตกต่างกันในรายละเอียด หากมีลักษณะร่วมของคุณค่าที่เอื้อประโยชน์ต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและพุทธศาสนา สำหรับครอบครัว ลอยกระทงทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งอาจมีการแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ

สำหรับชุมชน ประเพณีลอยกระทงช่วยสร้างเสริมความรักสามัคคีผ่านการพบปะสังสรรค์ ร่วมกิจกรรมสนุกสนาน และยังส่งเสริมช่างฝีมือในท้องถิ่น ลอยกระทงยังมีคุณค่าต่อการทำนุบำรุงพุทธศาสนา ผ่านการทำบุญทำทานถือศีล และรำลึกถึงพระธรรมคำสอน นอกจากนี้ ประเพณีลอยกระทงยังทรงคุณค่าต่อสังคม จากสาระของประเพณีที่มีความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำลำคลอง

บทสรุป

คุณค่าในมิติต่าง ๆ ของการลอยกระทง คงเป็นปัจจัยสำคัญให้ประเพณีอันเก่าแก่ยาวนานนี้ยังคงดำรงต่อเนื่องมีผู้ถือปฏิบัติอย่างกว้างขวางแพร่หลาย จนกลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยไม่เสื่อมคลาย

 

ขอขอบคุณข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ

ประเพณีลอยกระทง